วันจันทร์ที่ 9 มกราคม พ.ศ. 2560

พระธาตุขามแก่นหนึ่งในพระธาตุแห่งอีสาน




แต่เดิมจังหวัดขอนแก่นมิได้ชื่อขอนแก่น หากแต่ชื่อ ขามแก่น ซึ่งประวัติความเป็นมาของชื่อนี้ก็สัมพันธ์กับสิ่งศักดิ์สิทธิ์คู่บ้านคู่เมืองอีกแห่งหนึ่งด้วยนั้นก็คือ “พระธาตุขามแก่น ซึ่งตามประวัติความเป็นมามีอยู่ว่า นับแต่การเสด็จดับขันธ์ปรินิพพานขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ในวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 6 ไปแล้ว หลังจากนั้นไม่นานพระมหากัสสปะเถระเจ้า พร้อมด้วยพระอรหันต์ 500 องค์ ได้นำเอาพระอุรังคธาตุ (กระดูกส่วนอก) ไปประดิษฐานไว้ภูกำพร้า (พระธาตุพนมในปัจจุบัน) พระยาหลังเขียว โมริยกษัตริย์และพระอรหันต์ยอดแก้ว, พระอรหันต์รังษี, พระอรหันต์คันที และไม่ปรากฏชื่ออีก 6 องค์ จึงเดินทางพร้อมอัญเชิญเอาพระอังคารธาตุเพื่อไปบรรจุไว้ในพระธาตุพนมด้วย ระหว่างทางได้มาถึงพื้นที่แห่งหนึ่ง (ที่ตั้งของพระธาตุขามแก่นในปัจจุบัน) มีพื้นที่พื้นที่ดอน ราบเรียบ มีห้วยสามแยก น้ำไหลผ่านรอบดอน และมีต้นมะขามใหญ่ที่ตายแล้วเหลือแต่แก่นอยู่ต้นหนึ่ง ในขณะนั้นเป็นเวลาพลบค่ำพอดี ประกอบกับพื้นที่มีความเหมาะสมจึงได้พักแรมที่นี่ และนำเอาพระอังคารธาตุไปวางพักไว้บนแก่นของต้นมะขามที่ตายแล้วดังกล่าว พอรุ่งเช้าทั้งคณะก็เดินทางมุ่งหน้าสู่สถานที่ก่อสร้างพระธาตุพนมต่อไป แต่พอไปถึงปรากฏว่าพระธาตุพนมได้สร้างเสร็จแล้ว ไม่สามารถนำพระอังคารธาตุบรรจุลงไปได้อีก จึงจำต้องนำเอาพระอังคารธาตุนั้นกลับตามเส้นทางเดิม โดยตั้งใจว่าจะนำกลับไปไว้ที่นครของตนตามเดิม

พระธาตุพนม

เมื่อมาถึงดอนมะขามซึ่งเคยเป็นที่พักแรมครั้งก่อน ได้เห็นต้นมะขามใหญ่ที่ล้มตายเหลือแต่แก่นนั้นกลับผลิดอก ออกผล แตกกิ่งก้านสาขามีใบเขียวชะอุ่มแลดูงามตายิ่งนัก จะเป็นด้วยเทพเจ้าแสร้งนิมิตหรือด้วยอำนาจอภินิหารของ พระอังคารธาตุก็มิอาจรู้ได้ เห็นเป็นอัศจรรย์เช่นนั้นจึง พร้อมกันก่อสร้างพระธาตุครอบต้นมะขาม และบรรจุพระอังคารธาตุของพระเจ้าไว้ภายในด้วย โดยมีรูปลักษณะดังที่เราเห็น อยู่ในปัจจุบันนี้จึงเรียกชื่อพระธาตุนี้ว่า "พระธาตุขามแก่น" และหลังจาการก่อสร้างพระธาตุเสร็จแล้ว พระยาหลังเขียวพร้อม ด้วยบริวารได้สร้างบ้านแปลงเมืองอยู่ตรงนี้ และได้สร้างวัดให้เป็นที่พำนักของพระอรหันต์ทั้ง 9 องค์ ซึ่งมีวิหาร และพัทธสีมาเคียงคู่กับองค์พระธาตุสืบมา ครั้นกาลล่วงมาพระอรหันต์ทั้ง 9 องค์ก็ได้ดับขันธ์ปรินิพพาน ชาวเมืองนำเอาอัฐิธาตุของท่านบรรจุไว้ในพระธาตุองค์เล็ก ซึ่งอยู่ด้านทิศตะวันออกของอุโบสถในเวลานี้ ต่อมาประชาชนจึงเรียกพระธาตุองค์ใหญ่ว่า ครูบาทั้งเก้าเจ้ามหาธาตุ ส่วนพระธาตุองค์เล็กเรียกว่า ครูบาทั้งแปด

ส่วนงานฉลองและนมัสการพระธาตุขามแก่น จะจัดขึ้นในวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 6 (ประมาณเดือนพฤษภาคม) การสักการะ ใช้ธูป เทียน ดอกไม้ ขันแปดเก้า และในทุกวันขึ้น 15 ค่ำ ของทุกเดือนเชิญทุกท่านที่รักในการท่องเที่ยวไปกราบไหว้ซักครั้งในชีวิต.

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น