วันเสาร์ที่ 21 มกราคม พ.ศ. 2560

นั่งรถไฟ ไปนั่งช้าง รำลึกประวัติศาสตร์ของชาติไทย 2


 


ก่อนที่จะไปนั่งช้างเรามาเรียนรู้เรื่องช้างและความสำคัญของชาติอันเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ชาติไทยซักหน่อย 


ช้างนับว่าเป็นสัตว์ที่ใหญ่ที่สุดในโลก ช้างแบ่งออกเป็น 2 ตระกูลใหญ่ๆ คือ “ช้างแอฟริกา” และ “ช้างเอเชีย” ช้างที่พบเห็นในประเทศไทยนั้นเป็นช้างในตระกูลช้างเอเชีย มีลักษณะเด่นโดนรวมคือ สวยงาม ฉลาด ผิวหนังมีสีเท่าปนน้ำตาลเหลืองอ่อน มีรอยย่นทั่วไปแต่ไม่ลึกเหมือนช้างแอฟริกา อีกทั้งขาก็จะไม่เรียวมากนัก บริเวณเท้าข้างหน้ามีเล็บเล็กๆ อยู่ 5 เล็บ ส่วนเท้าหลังนั้นมี 4 เล็บ หางมีหลายพู่ ขนสั้น ช้างจะกินอาหารวันละประมาณ 250 กิโลกรัม ช้างไทยนั้นจะเดินช้า แม้นจะดุแต่ก็มีนิสัยขี้อายและสามารถได้ยินเสียงได้เร็วและไกลแม้เสียงนั้นจะอยู่ห่างไกลหลายกิโลเมตร โดยเฉลี่ยแล้วช้างจะมีอายุ 60 ปีสามารถให้กำเนิดลูกได้เมื่ออายุ 16-50 ปี โดยที่ตลอดชีวิตนั้นแม่ช้างสามารถมีลูกได้ 3-4 ตัวเท่านั้น การตั้งท้องของช้างก็อยู่ประมาณ 21-22 เดือน ในเวลาที่ช้างตกลูกนั้นแม่ช้างมักจะหาช้างพังไว้เป็นเพื่อนซึ่งจะเรียกว่า “แม่รับ” แม่รับจะทำหน้าที่ช่วยเลี้ยงลูกช้าง อีกทั้งแม่รับนี้จะรักและห่วงลูกช้างมากกว่าแม่จริงเสียอีก การตกลูกของช้างนั้นจะใช้เวลาไม่เกิน 2-3 ชั่วโมง โดยก่อนตกลูกช้างนั้นแม่ช้างจะบริเวณที่มีหญ้าอ่อนหรือพื้นนุ่มไว้รองรับลูกช้างที่จะเกิดมา


ช้างไทยหรือช้างเอเชียนี้จัดได้ว่าเป็นช้างที่ฉลาดที่สุด ฉะนั้นช้างจึงถูกนำมาฝึกเพื่อใช้งานร่วมกับมนุษย์อยู่เสมอ ไม่เพียงถูกนำมาฝึกงานเท่านั้น ช้างยังถูกนำมาฝึกให้ช่วยรบอีกด้วย และเหตุการณ์หลายเหตุการณ์ที่สำคัญในประวัติศาสตร์ไทยก็เกี่ยวเนื่องมาจากช้างมากมาย เช่นเหตุการณ์ที่สมเด็จพระศรีสุริโยทัยขับช้างเข้าขวางข้าศึก จนเป็นเหตุให้พระเจ้าแปรได้ทีฟันสมเด็จพระศรีสุริโยทัยสิ้นพระชนม์ซบลงบนคอช้าง หรือเมื่อคราวที่พระนเรศวรกระทำยุทธหัตถีชนะพระมหาอุปราชา เมื่อช้างมีความสำคัญกับประเทศถึงเพียงนี้ ก็ไม่แปลกที่ครั้งหนึ่งในอดีตเราจะมีธงชาติที่มีรูปช้างปรากฏอยู่


 


อดีตสมัยสมเด็จพระพุทธเลิศล้านภาลัย รัชกาลที่ 2 พระองค์ทรงได้ช้างเผือกมา 3 เชือก ซึ่งตามประเพณีไทยถือว่าเป็นเกียรติยศอย่างยิ่ง จึงมีพระราชโองการให้มีรูปช้างเผือกไว้กลางวงจักรในเธอเรือหลวง ต่อมาสมัยพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 4 ทรงมีพระดำริว่า ธงสีแดงซึ่งเรือสินค้าของไทยใช้อยู่นั้นซ้ำกับประเทศอื่น ควรจะใช้ธงอย่างเรือหลวงเป็นธงชาติ แต่โปรดให้เอารูปจักรสีแดงออก เพราะเป็นเครื่องหมายของพระเจ้าแผ่นดิน คงไว้แต่รูปช้างเผือกอยู่ตรงกลางธงแดงเท่านั้น ต่อมาในสมัยสมเด็จพระพุทธจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตราพระราชบัญญัติว่าด้วยแบบธงสยาม ลงวันที่ 25 มีนาคม ร.ศ. 110 (พ.ศ. 2434) กำหนดธงต่างๆ ถึง 13 ชนิด นับเป็นพระราชบัญญัติธงฉบับแรกของไทย ในพระราชบัญญัตินี้กำหนดไว้ให้เรียกว่า “ธงสยาม” มีลักษณะเป็นรูปธงช้างเผือกบนพื้นสีแดง ใช้สำหรับเรือกำปั้นและเรือพ่อค้าทั่วไป ส่วนเรือหลวงใช้ธงช้างเผือกทรงเครื่องยืนแท่น ที่มุมธงด้านบนมีจักรสำหรับชักท้ายเรือพระที่นั่ง


ดังจะเห็นได้ว่า ช้างนั้นเป็นสัตว์ที่มีคุณค่าและอยู่คู่ประเทศไทยมาช้านาน ฉะนั้นจึงเป็นที่น่ายินดีว่า “คณะอนุกรรมการประสานงานการอนุรักษ์ช้างไทย” ซึ่งได้เล็งเห็นว่าหากมีการสถาปนาวันช้างไทยขึ้น ก็น่าจะช่วยให้ประชาชนสนใจช้าง รักช้าง หวงแหนช้าง และให้ความช่วยเหลือมากขึ้น คณะอนุกรรมการฯ จึงมีมติให้วันที่ 13 มีนาคมของทุกปีเป็น “วันช้างไทย” โดยได้รับความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 26 พฤษภาคม พ.ศ. 2541


เมื่อเรียนรู้เรื่องช้างและความสำคัญของชาติอันเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ชาติไทย แล้วถึงตอนนี้มีใครอยากลองนั่งช้างไหม? ซึ่งราคาการนั่งช้างของที่ปางแห่งนี้นั้นก็อยู่ที่ 100 บาทต่อคนต่อ 10 นาที ช้างจะพาเราเดินออกจากปางช้างไปถึงสี่แยกตะแลงแกง เลี้ยวซ้ายไปทางคุ้มขุนแผน แล้วมุ่งไปยังวิหารพระมงคลบพิตร แต่จะไปไม่แล้วจึงวกกลับปาง ซึ่งการนั่งช้างนั้นสนุกตื่นเต้นไปอีกแบบ ความรู้สึกคล้ายกับว่าเรานั่งรถสูงๆ ที่ไม่มีหลังคาแถมยางแตกข้างหนึ่ง คือมันจะโยกไปโยกมาตลอด
แต่ถ้าใครไม่กล้านั่งช้าง ทางสถานที่ก็มีที่ให้นั่งรอพร้อมทั้งมีซุ้มจำหน่ายอาหารช้างเช่นสมุนไพร ไอศกรีม หรือแม้นกระทั่งป้อนนมให้ช้างด้วย อาหารนั้นก็คือกล้วยราคาอยู่ที่ 20 บาทต่อตะกร้า ส่วนนมช้างนั้นอยู่ที่ 50-100 บาทต่อเหยือก โดยการที่จะให้นมช้างนั้นก็คล้ายๆ ให้น้ำเกลือคน คือจะมีกระบอก (ที่เห็นใช้ขวดน้ำอัดลมอันใหญ่) แล้วต่อสายยางขนาดเล็กใส่ปากช้าง เราจะเทนมใส่กระบอกอย่างช้าๆ แล้วช้างก็จะดูดนมจากสายยางนั้นเอง


และที่ซุ้มนี้ทำให้ผมรู้สึกอดสะท้อนใจอะไรบ้างอย่างไม่ได้นั้นก็คือถ้อยคำที่เขียนไว้ว่า “วันนี้คล้ายขอทาน อดีตกาลเคยกู้ชาติ” และเมื่อนั่งไตร่ตรองดูก็จริงอย่างที่เขียนไว้ ผมอยู่ในเมืองหลวง เกือบทุกครั้งที่ออกไปนอกบ้านในยามค่ำน้อยครั้งที่ผมจะไม่เห็นภาพชายฉกรรจ์เที่ยวเร่ขายอาหารช้าง ถุงละ 20 บาท เมื่อมองภาพเหล่านั้นนานเข้า โดยเฉพาะหลังจากที่เห็นป้ายนั้นที่หน้าซุ่มทำให้ผมอดที่จะสะท้อนใจอยู่ลึกๆ ไม่ได้


จากปางช้างเดินไปทางคุ้มขุนแผนแวะดูคุ้มที่สวยงาม ซึ่งเป็นบ้านทรงไทยสมัยก่อนซักครู่ แล้วค่อยเดินต่อไม่นานก็จะมาถึง “วิหารมงคลบพิตร”

 


วิหารมงคลบพิตรนี้ตั้งอยู่ทางทิศใต้ของวัดพระศรีสรรเพชญ์ ภายในมีพระพุทธรูปปางมารวิชัย มีหน้าตักกว้าง 9.55 เมตร และสูง 12.45 เมตร ซึ่งก็นับว่าเป็นพระพุทธรูปขนาดใหญ่องค์หนึ่งของไทย ทว่าไม่มีหลักฐานแน่ชัดว่าสร้างในสมัยใด แต่สันนิษฐานว่าสร้างในสมัยกรุงศรีอยุธยาตอนต้นราวปี พ.ศ. 1991-2145


เมื่อเข้าไปกราบไหว้พระพุทธรูปในวิหารมงคลบพิตรเรียบร้อยแล้ว ก็ออกมาเดินเที่ยวชมบริเวณรอบๆ ดู ซึ่งด้านหลังของวิหารนั้นจะมีบรรดาพ่อค้าแม่ค้าเปิดร้านขายของฝากมากมาย ซึ่งของฝากที่ขึ้นชื่อก็มีตั้งแต่ผลไม้แช่อิ่ม โรตีสายไหม แคบหมูไร้มัน โดยเฉพาะหนังปลาทอดกรอบนั้นมีขายมากมาย อีกทั้งสนนราคาไม่แพงเกินไปนัก (สามห่อ 50 บาท รับรองทานได้เป็นวันๆ) เหมาะที่จะซื้อเป็นของฝากหรือเอาไว้ทานเล่นบนรถไฟเที่ยวกลับได้เลย




ในจังหวัดพระนครศรีอยุธยานั้น แม้นโดยรวมแล้วจะเป็นเพียงจังหวัดที่ไม่ใหญ่เกินไปนัก ทว่าสถานที่ท่องเที่ยวนั้นมีมากมายอาทิเช่นวัดพระศรีสรรเพชญ์ พระราชวังโบราณ บึงพระราม พระราชายุสาวรีย์สมเด็จพระศรีสุริโยทัย ฯลฯ ซึ่งก็แน่นอนใครก็ไม่สามารถเที่ยวได้หมดภายในวันเดียว แต่ก็สามารถไปเที่ยวแบบเช้าไปเย็นกลับจากกรุงเทพฯ ได้ไม่ยากนัก


ซึ่งถ้าหากท่านมีแผนที่จะเดินทางไปเที่ยวต่างจังหวัด โดนมีงบประมาณและเวลาที่จำกัดแล้วหละก็ “จังหวัดพระนครศรีอยุธยา” นั้นก็น่าจะเป็นจังหวัดที่เป็นตัวเลือกอันดับต้นๆ ที่ท่านน่าจะลองเลือกดู
เชื่อเถอะว่าหลังจากที่คุณกลับเมืองหลวง คุณก็อยากจะกลับไปเที่ยวอีกในไม่ช้า.


แสงศรัทธา ณ ปลายฟ้า เรื่องและภาพ


อ่านนิยายของเพลงมีนา


“บ้านนักเขียน” ยินดีเป็นส่วนหนึ่งของนักเขียนและนักอ่านทุกท่าน หากถ้าหากนักเขียน นักอ่าน สำนักพิมพ์มีความประสงค์ที่จะโฆษณาประชาสัมพันธ์งานเขียน ข่าวคราวเกี่ยวกับหนังสือของตนเองหรือของผู้อื่น กรุณาส่งรีวิว ไฟล์ภาพ และรายละเอียดหนังสือหรือข่าวที่จะให้ประชาสัมพันธ์นั้นๆ มาที่ “บ้านนักเขียน” หรือที่ admin@bannakkhian.com และอย่าลืมแวะเข้าไปเยี่ยมกันที่ “บ้านนักเขียน” กันบ้างนะครับ ใครต้องการเขียนเรื่องสั้น นิยาย บทกวี ฯลฯ ทาง “บ้านนักเขียน” ได้เปิดพื้นที่ให้นักเขียน นักอยากเขียนทุกท่านได้โชว์ผลงานผ่าน “บอร์ดนักเขียน” ไม่แน่หากผลงานของท่านเข้าตาบรรณาธิการสำนักพิมพ์ วงวรรณกรรมก็อาจจะมีนักเขียนดีผลงานเด่นเพิ่มขึ้นอีกหนึ่งคนก็ได้ ขอบคุณครับ.

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น