วันพฤหัสบดีที่ 12 มกราคม พ.ศ. 2560

เลียบแม่น้ำโขง สู่เวียงแก่น ขึ้นภูดูทะเลหมอก 1.


แสงศรัทธา ณ ปลายฟ้า เรื่องและภาพ
*ยกเว้นภาพช่องเขาขาดถ่ายโดย นพรัตน์ ละมุล
ตีพิมพ์ครั้งแรก กรุงเทพธุรกิจ ฉบับเสาร์สวัสดี




เคยคิดไหมว่าในอำเภอหรือตำบลที่เราอยู่นั้นมีแหล่งท่องเที่ยวมากมายเท่าใด? ใครหลายคนอาจไม่เคยรู้ หรือรู้แล้วแต่ไม่อยากไปเพราะเหตุแห่งความใกล้ตัว ดั่งถ้อยสุภาษิตโบราณว่า “ใกล้เกลือกินด่าง”


เมื่อช่วงปลายฝนต้นหนาวที่ผ่านมา ผมได้มีโอกาสไปสัมผัสแหล่งท่องเที่ยวในอำเภอหนึ่งของจังหวัดเชียงราย ซึ่งเมื่อพูดถึงชื่ออำเภอใครหลายคนอาจไม่รู้จัก ทว่าเมื่อพูดถึงแหล่งท่องเที่ยวในอำเภอนั้นขึ้นมา ทุกคนจะต้องร้องว่า “อ๋อ...รู้จักขึ้นมาเลยทันที” อำเภอที่ผมว่านั้นชื่อ “เวียงแก่น” และแหล่งท่องเที่ยวที่เป็นที่ขึ้นชื่อที่สุดก็คือ “ผาตั้ง - ภูชี้ฟ้า” นั่นเอง


ผมเป็นคนชอบท่องเที่ยว ถ้ามีโอกาสหรือมีใครชวนหากมิได้ติดพันธะกิจใด ผมจะไม่ขัดสักครั้ง และสิ่งแรกก่อนที่ผมจะทำก่อนออกเดินทางทุกครั้งก็คือการเสาะหาข้อมูลสถานที่ที่ผมจะไปนั่นก็เพราะ ผมจะได้เรียนรู้ประวัติศาสตร์ของเมืองและวิถีวัฒนธรรมของชนท้องถิ่น ตลอดจนถึงการศึกษาเส้นทางการเดินทางในสถานที่ที่ไปจะได้ไม่ต้องติดอุปสรรค์เพียงแค่เหตุว่า เราทำการบ้านมาน้อย
ฉะนั้นด้วยเหตุที่ผมกล่าวมาผมว่าเราลองมาทำความรู้จักเวียงแก่นก่อนกันดีไหม?




“ดงเวียนแก่น” หรือ “เวียงแก่น” ตั้งอยู่ทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือของจังหวัดเชียงรายห่างจากกรุงเทพฯ เป็นระยะทาง 805 กิโลเมตร ทิศเหนือและทิศตะวันออกติดกับสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว (สปป.ลาว) ทิศใต้ติดกับอำเภอเทิง ทิศตะวันตกติดกับอำเภอขุนตานและเชียงของมีแม่น้ำสายหลักคือแม่น้ำงาว ซึ่งเป็นแม่น้ำสายหนึ่งที่ไหลลงสู่แม่น้ำโขงที่ตำบลม่วงยาย


ทางด้านวิถีชนท้องถิ่นนั้นประกอบไปด้วยชาวเผ่าต่างๆ เช่นเผ่าคนเมือง คนลาว เผ่าขมุ เผ่าไทลื้อ เผ่าม้ง เผ่าเย้า เผ่าจีนฮ่อ  ซึ่งส่วนใหญ่เป็นคนพื้นเมือง (ไทยเหนือ) ใช้ภาษาคำเมือง นอกจากนั้นมีภาษาไทลื้อ , ม้ง ,เย้า,ลาว,จีนฮ่อ,ขมุ การแต่งกายของคนพื้นเมืองแต่งกายด้วยเสื้อหม้อฮ่อมและตามสมัยนิยม ส่วนชนเผ่าอื่นมีชุดประจำเผ่า แม้ในปัจจุบันจะได้รับวัฒนธรรมการแต่งกายจากคนพื้นราบ แต่ก็ยังคงมีการแต่งกายตามชุดประจำเผ่าของตนเองในกลุ่มผู้สูงอายุและตามงานประเพณีต่าง ๆ




เวียงแก่นนั้นในอดีตเคยเป็น “เมืองเวียงแก่น” มีอายุราว 700 ปี ประมาณสมัยสุโขทัยและเชียงราย ในอดีตมี “เจ้าหลวงเวียงแก่น” เป็นเจ้าผู้ปกครองเมือง มีพระชายาชื่อ “เจ้าแม่แว่นเตียม” และโอรสชื่อ “เจ้าองค์ดำ” ทว่าต่อมาเกิดมีการสู้รบกับพ่อขุนเม็งรายมหาราช และจากการสู้รบในครั้งนั้นทำให้เจ้าหลวงเมืองเวียงแก่นถึงกับสิ้นพระชนม์ในสนามรบไปด้วย ส่งผลให้เมืองเวียงแก่นถูกทิ้งร้างอยู่เป็นเวลานาน จนกระทั่งปี พ.ศ.2538 กิ่งอำเภอเวียงแก่นก็ถูกยกฐานนะเป็นอำเภอ มีคำขวัญประจำอำเภอว่า “เจ้าหลวงเวียงแก่น ชายแดนไทยลาว น้ำงาวพราวใส ผาไดเด่นดัง ผาตั้งเด่นนาน ส้มโอหวานทองดี”


เมืองเวียงแก่นเป็นอำเภอหนึ่งที่นับได้ว่ามีสถานที่ท่องเที่ยวมากมาย ไม่ว่าจะเป็นน้ำตกตาดหมอก น้ำตกทรายทอง ถ้ำพระยาแล ถ้ำห้วยจ้อ ถ้ำห้วยหิน ถ้ำผาบู่ ถ้ำผาช่องไทรโบราณสถานดงเวียงแก่น แก่งผาได และที่เป็นที่ขึ้นชื่อที่นักเดินทางทุกคนจะพลาดไม่ได้นั้นก็คือ ผาตั้ง และภูชี้ฟ้า



การเดินทางมาเยือนเมืองเวียนแก่นนั้นก็ไม่ยากเเท่าใดนัก จากตัวเมืองเชียงรายใช้เส้นทาง เชียงราย-เวียงชัย-พญาเม็งราย-บ้านต้า (ทางหลวงหมายเลข 1233, 1173, 1152) ประมาณ 50 กม. บ้านต้า-บ้านท่าเจริญ (ทางหลวง 1020) ประมาณ 45 กม.บ้านท่าเจริญ-เวียงแก่น-ปางหัด (ทางหลวง 1155) 17 กม. รวมระยะทางประมาณ 100 กว่ากิโลเมตร แต่ถ้ามิได้นำรถส่วนตัวมาก็จะมีรถออจากท่ารถ บขส. เชียงรายถึงทางขึ้นผาตั้งและภูชี้ฟ้าเลย


การเดินทางของผมในเที่ยวนี้นั้นค่อนข้างสะดวกตรงที่ว่า มีพาหนะไปเองจึงสามารถแวะพักตามจุดชมวิวข้างทางได้สะดวก เมื่อสัมภาระพร้อมคนพร้อมพวกเราสามหนุ่มก็ออกเดินทางกัน ผมคงต้องบอกก่อนว่า ผมไม่ได้ออกเดินทางจากเชียงรายโดยตรงหรอก หากแต่ออกเดินทางจากตัวอำเภอเชียงของ อำเภอเล็กๆ ที่น่าอยู่ริมฝั่งโขงจังหวัดเชียงราย แต่ถ้าใครออกเดินทางมาจากจังหวัดเชียงรายก็จะผ่านจุดต่างๆ ที่ผมกำลังจะกล่าวถึงด้วยเช่นกัน


นั่งรถมาตามทางเลียบแม่น้ำโขงเรื่อยๆ ช่วงประมาณอำเภอศรีดอนชัยทางซ้ายมือจะเห็นป้ายเล็กๆ เขียนไว้ว่า “ธาตุยายม่อน” ซึ่งเป็นจุดแรกที่น่าแวะพัก เพราะนอกจากเราจะได้ชมธรรมชาติริมโขงซึ่งมีประเทศลาวอยู่ฟากตรงข้ามแล้ว ทางด้านบนของเนินมี “ธาตุยายม่อน” ซึ่งว่ากันว่าด้านล่างนั้นมี “วังพญานาค” อยู่


“ธาตุยายม่อน” ณ ปัจจุบันนี้ไม่มีให้เห็นตัวของเจดีย์พระธาตุแล้ว คงเหลือให้เห็นก็แต่เศษซากบ้าง โดยที่เห็นเด่นชัดที่สุดก็จะเป็นเศียรของพระพุทธรูปครึ่งท่อนล่างตั้งวางอยู่ และใกล้ๆ กันนั้นจะมีแอ่งขนาดกว่างซัก 4 เมตร ตรงแอ่งที่ว่านี้เองที่ว่ากันว่าเป็น “วังพญานาค”


เมื่อออกจากธาตุยายม่อนไปตามทางเรื่อยๆ ทางซ้ายมืออีกเช่นกันจะมี “ศาลเจ้านาคราช นาคา-นาคี” ผู้ใช้รถเดินทางเมื่อผ่านศาลแห่งนี้ก็จะบีบแตรรถ นัยว่าเพื่อแสดงความเคารพ จากศาลเจ้านาคา - นาคี ไปไม่ไกลนักจะมีจุดแวะชมวิว “บ้านห้วยเอียด” จุดชมวิวตรงนี้มีอาหารและที่จอดรถไว้บริการ หากว่าใครไม่ได้เร่งรีบก็ลองแวะพักชมวิวริมฝั่งแม่น้ำโขงตรงนี้ก็ดีไม่น้อย พอสุขจิตอิ่มใจกับธรรมชาติแล้วค่อยเดินทางต่อ


เดินทางต่อจากจุดชมวิวบ้านห้วยเอียดอีกราวสามสิบนาที เราก็จะเข้าสู่อำเภอเมืองเวียงแก่น แหล่งท่องเที่ยวต่อไปที่เราจะไปชมกันก็คือ “แก่งผาได”




แก่งผาไดนี้อยู่ห่างจากตัวเมืองเวียงแก่นประมาณ 12 กิโลเมตร ตั้งอยู่ในตำบลม่วงยาย อย่างที่ผมบอกไว้แต่แรกแล้วว่า คำขวัญของอำเภอเวียงแก่นนั้นมี “ส้มโอหวานทองดี” อยู่ด้วย ฉะนั้นตลอดสองข้างทางที่เดินทางเข้าสู่แก่งผาไดนั้น จะเห็นไร่ส้มโอพันธุ์ทองดีที่ชาวบ้านปลูกอยู่เต็มไปหมดทั้งซ้ายขวา ถ้าใครสนใจอยากรู้ว่าส้มโอที่นี่รสชาติอร่อยสมคำเล่าลือหรือไม่ ก็ลองแวะซื้อจากชาวบ้านได้ในราคาไม่แพง


ที่แก่งผาไดนี้ได้ชื่อว่าเป็นสถานที่ท่องเที่ยวที่มีบรรยากาศร่มเย็นเงียบสงบน่าแวะพักผ่อนเป็นอย่างยิ่ง อีกทั้งยังมีร้านอาหารติดริมแม่น้ำโขงไว้บริการอีกด้วย ซึ่งอาหารที่บรรดานักชิมและนักท่องเที่ยวไม่น่าพลาดก็คือ อาหารที่มีปลาเป็นส่วนประกอบ ไม่ว่าจะเป็นปลาแค้ลวกจิ้ม ต้มยำปลา ลาบปลา แน่นอนปลาของที่นี้เป็นปลาสดๆ จากแม่น้ำโขงทุกจาน


สายน้ำโขงตรงแก่งผาไดนี้ ถือว่าเป็นจุดสุดท้ายของแม่น้ำโขงที่ไหลผ่านประเทศไทยก่อนจะเข้าสู่ประเทศลาว และจะวกกลับเข้ามาฝั่งไทยอีกครั้งที่อำเภอเชียงคาน จังหวัดเลย ในระยะช่วงฤดูแล้ง ราวเดือนมกราคม – กรกฎาคม บริเวณแม่น้ำโขงช่วงตรงนี้จะมีเกาะแก่งหินปรากฏให้เห็นมากมาย.



"บ้านนักเขียน" ยินดีเป็นส่วนหนึ่งของนักเขียนและนักอ่านทุกท่าน หากถ้าหากนักเขียน นักอ่าน สำนักพิมพ์มีความประสงค์ที่จะโฆษณาประชาสัมพันธ์งานเขียน ข่าวคราวเกี่ยวกับหนังสือของตนเองหรือของผู้อื่น กรุณาส่งรีวิว ไฟล์ภาพ และรายละเอียดหนังสือหรือข่าวที่จะให้ประชาสัมพันธ์นั้นๆ มาที่ "บ้านนักเขียน" หรือที่ admin@bannakkhian.com  และอย่าลืมแวะเข้าไปเยี่ยมกันที่ "บ้านนักเขียน" กันบ้างนะครับ ใครต้องการเขียนเรื่องสั้น นิยาย บทกวี ฯลฯ ทาง "บ้านนักเขียน" ได้เปิดพื้นที่ให้นักเขียน นักอยากเขียนทุกท่านได้โชว์ผลงานผ่าน "บอร์ดนักเขียน" ไม่แน่หากผลงานของท่านเข้าตาบรรณาธิการสำนักพิมพ์ วงวรรณกรรมก็อาจจะมีนักเขียนดีผลงานเด่นเพิ่มขึ้นอีกหนึ่งคนก็ได้ ขอบคุณครับ.

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น